Social Icons

TwitterFacebookGoogle PlusLinkedInRSS FeedEmail

15 กันยายน 2556

ประวัติ : จักษุแพทย์มุสลิม


ศาสตราจารย์ ยูเลียส เฮียชแบร์ก (Professor Julius Hirschberg) จักษุแพทย์ชื่อดังของเยอรมนี ได้บรรยายเรื่อง ‘จักษุแพทย์อาหรับ’ ที่สมาคมแพทย์อเมริกัน รัฐคาลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 11-14 กรกฎาคม 1905 เขาเริ่มต้นการบรรยายว่า:

“ผมขอเชื้อเชิญทุกท่าน...เดินทางกลับไปในอดีตเมื่อพันปีก่อน เพื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งของวงการจักษุวิทยาโลกอาหรับ ซึ่งผมได้ศึกษาตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เรามีคำถามสองข้อที่จะต้องมาถกกัน: ข้อแรกคือ ในการศึกษาด้านจักษุวิทยาของจักษุแพทย์อาหรับ พวกเขาหาข้อมูลมาจากไหน? และข้อที่สอง นักวิชาการอาหรับมีบทบาทในการพัฒนาด้านจักษุวิทยาอย่างไร? และหนึ่งในงานคลาสสิกด้านจักษุวิทยาของชาวอาหรับก็คือตำราที่เขียนขึ้นมาโดย อาลี อิบนุ อีซา (ค.ศ.1000) ชื่อ จดหมายเหตุจักษุวิทยา (Memorial of Ophthalmology) ซึ่งส่วนหนึ่งเขาได้รวบรวมข้อมูลมาจากตำราของกาเลน (Galen ค.ศ.129-200) ปราชญ์ชาวกรีก ชื่อ ตำราด้านตา 10 ข้อ (The Ten Treatises of the Eye) และอีกส่วนหนึ่งอาลีได้เขียนเพิ่มเติมจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง”



เฮียชแบร์กให้ความเห็นว่าตำราของอาลีวิเศษมาก เทียบชั้นได้กับบทบาทของชาวมุสลิมที่สร้างสรรค์มัสยิดคอร์โดบา (อัล-อันดาลุส อาณาจักรอิสลามสเปน) อันแสนอลังการเลยทีเดียว

ในตำราของ ‘คาลิฟาฮ์’ (Kalifah ราวค.ศ.1206) ได้ระบุตำราอาหรับที่เกี่ยวกับจักษุวิทยาไว้ 18 เล่ม ซึ่งนักวิชาการมุสลิมใช้เวลาเพียง 250 ปีในการผลิตตำราเหล่านี้ออกมา ในขณะที่งานของนักวิชาการกรีกตั้งแต่ยุคของฮิปโปเครตีส (Hippocrates ค.ศ.460 ก่อนค.ศ. – 370 ก่อนค.ศ.) ไปจนถึง พอลลัส(Paulus Aeginata ศตวรรษที่ 7) ซึ่งยาวนานถึง 1,000 ปี แต่นักวิชาการกรีกกลับผลิตตำราด้านจักษุวิทยาออกมาเพียง 5 เล่ม!! และปรากฎว่าเมื่อรวบรวมทั้งหมดแล้ว นักวิชาการมุสลิมผลิตตำราด้านจักษุวิทยาออกมา 30 เล่ม และยังคงหลงเหลือมาจนถึงยุคปัจจุบัน 14 เล่ม

ในภาษาอารบิกจะเรียกจักษุแพทย์ว่า ‘อัล-กาฮาล’ (Al-Kahhal) มาจากคำว่า ‘โกฮาล’ (Kuhl)

เฮียชแบร์กได้เอ่ยถึงนักวิชาการด้านจักษุวิทยาที่สำคัญๆ และผลงานของพวกเขาดังต่อไปนี้

อาลี อิบนุ อีซา (Ali Ibn Isa)
เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาที่โด่งดังที่สุดของโลกมุสลิม เขาถือกำเนิดในแบกแดด อิรัก ตำราของเขา ตัสกีรอตุลกาฮาลีน (Tazkiratul-Kahhaleen) หรือหมายเหตุจักษุแพทย์ (Notebook of the Occulist) เป็นตำราด้านโรคตาที่ดีที่สุดและละเอียดที่สุด ถูกนำไปอ้างอิงอย่างกว้างขวางที่สุดโดยจักษุแพทย์ในยุคต่อมา ตอนแรกถูกแปลเป็นภาษาเปอร์เซียก่อน ถัดมาถูกแปลเป็นภาษาละติน ตีพิมพ์ในเมืองเวนิซ (อิตาลี) ในปี 1497

   จากนั้นในโลกยุคปัจจุบัน ปี 1904 ถูกแปลและให้ความเห็นเป็นภาษาเยอรมันโดย เฮียชแบร์กและลิพเพิร์ท (Hirschberg & Lippert) ต่อมาปี 1936 เคซีย์ วู้ด ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ

ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาร่วมสมัยกับอาลี อิบนุ อีซา ได้แก่ อัมมาร์ อิบนุ อาลี อัล-โมซุลี (ดูรายละเอียดข้างล่าง) และ อบุล ฮาซัน อาห์เมด อิบนุ มุฮัมมัด อัล-ตาบารี ซึ่งได้ระบุไว้ในหนังสือของเขา “Kitab-ul Mu’Alaja-ul Buqratiyya” (Book of Hippocratic Treatment) ว่าเขาได้เขียนตำราขนาดยาวเรื่องโรคตาไว้ด้วย แต่น่าเสียดายที่ตำราจักษุวิทยาของอัล-ตาบารีไม่เหลือรอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน

อัมมาร์ อิบนุ อาลี อัล-โมซุลี (Ammar Ibn Ali Al-Mosuli)
อัมมาร์มาจากเมืองโมซุล (Mosul) ในอิรัก สร้างชื่อในแวดวงวิชาการช่วงปีค.ศ.1010 เขาเขียนหนังสือด้านจักษุวิทยาชื่อ ตำราทางเลือกในการรักษาโรคตา(Kitab-ul Muntakhab fi Ilaj-ul ‘Ayn หรือ Book of Choices in the Treatment of Eye Diseases) อัมมาร์เป็นหมอที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอียิปต์ หนังสือของเขามีทั้งเรื่องกายวิภาควิทยา โรควิทยา และได้อธิบายวิธีการดูดต้อกระจกออกจากตาซึ่งมี 6 วิธี และวิธีรักษาเส้นประสาทตาอักเสบ

   เฮียชแบร์กระบุว่าอัมมาร์เป็น “ศัลยแพทย์ด้านตาที่เฉลียวฉลาดที่สุดของโลกอาหรับ” ในตำราของเขาซึ่งสั้นมากถือเป็นตำราจักษุวิทยาที่บางที่สุด มีตัวหนังสือเพียง 1,500 คำ แต่อัมมาร์ได้เขียนเกี่ยวกับโรคตาถึง 48 ชนิด! ตำราของอัมมาร์ปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่หอสมุดเอสโคเรียล กรุงมาดริด ประเทศสเปน และแม้หนังสือของอัมมาร์จะบางกว่าหนังสือของอาลี อิบนุ อีซา เยอะแยะ แต่ก็ได้ระบุโรคตาชนิดต่างๆ ที่เขาสังเกตเห็นและค้นพบด้วยตัวเองมากกว่าของอาลี

ในศตวรรษที่ 13 ชาวยิวชื่อ ‘นาธาน’ ได้แปลตำราเล่มนี้เป็นภาษาฮีบรู ต่อมาในปี 1905 เฮียชแบร์กแปลเป็นภาษาเยอรมัน

อัมมาร์เป็นคนแรกที่คิดค้นการผ่าตัดดูดต้อกระจกออกจากตาโดยใช้เข็มกลวงสอดเข้าไป ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้เป็นวิธีการที่ทันสมัยที่สุดเมื่อพันปีก่อน

ที่น่าสนใจก็คือ ในตำราที่เขาเขียนขึ้นมาทั้งหมดในฐานะศัลยแพทย์และนักวิจัย อัมมาร์ได้ระบุไว้ตลอดว่า ความสำคัญอันดับแรกสุดของเขาคือการเป็นมุสลิม ส่วนการเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นสำคัญรองลงมา ซึ่งได้แสดงให้เห็นในทัศนคติที่เอื้ออาทรต่อคนไข้ แม้เขาจะเดินทางมากแต่ก็จะปฏิบัติศาสนกิจครบตามข้อบังคับของศาสนา เขายังได้เดินทางไปเยือนหลุมศพของท่านศาสนฑูตที่เมืองมาดีนาและประกอบพิธีฮัจย์ที่เมกกะ

 ภาพวาดแพทย์มุสลิมสมัยกลางกำลังรักษาคนไข้

ซาร์รินดาส (Zarrindast)
อบู รุฮ มุฮัมมัด อิบนุ มันซูร บินอับดุลลอฮ หรือที่รู้จักกันว่า “อัล-จูร์จานี” (Al-Jurjani) มีสมญานามว่า‘หัตถ์ทองคำ’

เป็นศัลยแพทย์ชื่อดังจากเปอร์เซีย รุ่งเรืองช่วงปี 1088 ซึ่งเป็นรัชสมัยสุลต่านมาลิกชาห์ เขาเขียนตำราจักษุวิทยาชื่อ ‘นูรุลอุยูน’ (Nur-ul-’Ayun) หรือ แสงแห่งดวงตา (The Light of the Eyes) ตำราเล่มนี้เขาเขียนขึ้นจากการศึกษาวิจัยด้วยตัวเอง มีทั้งหมด 10 บท ในบทที่ 7 เขาได้อธิบายการผ่าตัดตา 30 แบบ ซึ่งรวมไปถึงการผ่าตัดต้อกระจก 3 แบบด้วย เขายังเขียนเกี่ยวกับกายวิภาคและสรีรวิทยาด้านตาและโรคตา ในบทหนึ่งเขียนเกี่ยวกับโรคตาที่มองเห็นได้เช่น ต้อกระจก โรคริดสีดวงตา โรคที่เปลือกลูกตา และปัญหาหนังตา ในบทอื่นๆ ได้กล่าวถึงโรคตาที่มีสาเหตุมาจากด้านอื่นเช่น เส้นประสาทชา เลือดผิดปกติ

เขาได้ระบุถึงโรคตาที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และโรคตาที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด และระบุวิธีการรักษา มีหมวดหนึ่งที่อธิบายการผ่าตัดตาโดยเฉพาะ และยังมีหมวดที่เกี่ยวกับยารักษาโรคตา

ผู้เชี่ยวชาญด้านตาอีกคนหนึ่งที่เฮียชแบร์กได้กล่าวถึงในการบรรยายที่สมาคมแพทย์อเมริกัน (ปี 1905) ก็คือ อบู มุตตารีฟ จากเซบีญ่า (อัล-อันดาลุส อาณาจักรมุสลิมสเปน) ซึ่งรุ่งเรืองในช่วงศตวรรษที่ 11 นอกจากเขาจะเป็นจักษุแพทย์แล้วก็ยังมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ แต่น่าเสียดายที่ตำราของเขามิได้หลงเหลือมาถึงยุคเราเลย

อัล-กอฟิกี (Al-Ghafiqi)
มุฮัมมัด อิบนุ กัซซัม อิบนุ อัสลัม อัล-กอฟิกี ในภาษาสเปนเขียนว่า Muhammad Al-Gafequi หรือที่รู้จักกันว่า ‘อัลกอฟิกี’ (เสียชีวิตปี 1165) เป็นจักษุแพทย์แห่งอัล-อันดาลุส อาณาจักรมุสลิมสเปน ในศตวรรษที่ 12 เขาได้เขียนตำราชื่อ อัลมูรชิดฟิลกุล (Al-Murshid fil Kuhl) หรือ แนวที่ถูกต้องของจักษุวิทยา (The Right Guide in Ophthalmology) ซึ่งมิได้ระบุแค่เรื่องของตาเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับศีรษะและโรคเกี่ยวกับสมอง ในตำราของเขา อัล-กอฟิกีได้อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือของอัมมาร์

ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยือนคอร์โดบา สเปน สามารถไปเยี่ยมชมรูปปั้นครึ่งตัวของอัล-กอฟิกีในเครื่องแต่งกายอาหรับได้ที่ลานสี่เหลี่ยมโรงพยาบาลเทศบาลเมืองคอร์โดบา รูปปั้นของเขาถูกสร้างขึ้นมาในปี 1965 เพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบ 800 ปีของการเสียชีวิตของอัล-กอฟิกี  

รูปปั้นครึ่งตัวของอัล-กอฟิกี (Al-Ghafiqi หรือ Muhammad Al-Gafequi) ในเครื่องแต่งกายอาหรับที่เมืองคอร์โดบา สเปน

คาลีฟาฮ์แห่งฮาเลบ (Kalifah of Haleb)
คาลีฟาฮ์ อิบนุ อัล-มาฮาซิน แห่งอเลปโป หรือ ฮาเลบ (ซีเรีย) ซึ่งรุ่งเรืองในช่วงปี 1260 เขาเขียนตำรามีความหนา 564 หน้า ทั้งอธิบายและมีภาพวาดของเครื่องมือผ่าตัดหลากชนิด รวมไปถึงเครื่องมือ 36 ชนิดที่ใช้ในการผ่าตัดตา เขายังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างดวงตากับสมองต่อการมองเห็นของมนุษย์ คาลีฟาฮ์เขียนวิธีการผ่าตัดต้อกระจก 12 แบบ คำว่าต้อกระจกในภาษาอารบิกคือ ‘อัล-มาอะ นาซุลอีน’ คำว่า ‘มาอะ’ หมายถึง ‘น้ำ’ หรือน้ำที่เข้าไปอยู่ในดวงตา ตัวอย่างเช่น น้ำที่เข้าไปอยู่ในเลนส์ตา ทำให้ดวงตา ‘โชก’ นำไปสู่อาการตาพร่า ต้อกระจกที่ทำให้ดวงตาพร่ามัวนี้สามารถใช้เข็มกลวงดูดออกไปได้ ทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ชัดเจนอีกครั้ง

ซอลาฮุดดีน (Salahuddin)
ซอลาฮุดดีน อิบนุ ยูซุฟ จากฮัมมาฮ์ (ซีเรีย) เขียนหนังสือ แสงของดวงตา (The Light of the Eyes)ขึ้นมาในปี 1290 หนังสือของเขาไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงเหมือนจักษุแพทย์ข้างต้น แต่กล่าวถึงเรื่องของดวงตาแบบทั่วๆ ไปเช่นเดียวกับหนังสือของแพทย์มุสลิมชื่อดังรายอื่นๆ อย่าง อัล-ซาฮ์ราวี, "อัลบูคาซิส" ศัลยแพทย์แห่งอันดาลูเชีย (Al-Zahrawi “Albucasis” ค.ศ.936-1013), อิบนุซุฮริ (Ibn Zuhr ค.ศ.1091–1161 โลกตะวันตกรู้จักเขาในนาม ‘Avenzoar’ เป็นแพทย์ชื่อดังแห่งเซบีญ่า สเปน), และอิบนุรุชด์ (หรือ ‘อเวอร์โรส’ Averroes ค.ศ.1126-98 ปราชญ์แห่งอัล-อันดาลุส ที่ประเทศสเปนยกย่องอย่างสูงมาจนถึงทุกวันนี้)

อิบนุ ไฮษัม
อิบนุ อัล-ไฮษัม "อัลฮาเซน" (Ibn al-Haytham “Alhazen” ค.ศ.965-1040) หักล้างทฤษฎีของยูคลิด(Euclid) และปโตเลมี (Ptolemy) ปราชญ์ชาวกรีกที่สอนกันมาเป็นพันปีว่าแสงมาจากการที่ดวงตาของมนุษย์ส่งแสงออกไป อิบนุ อัล-ไฮษัมเป็นมนุษย์คนแรกที่อธิบายว่าแสงจากวัตถุสะท้อนเข้ามาสู่ตาของมนุษย์ต่างหาก คนเราถึงมองเห็น มิใช่ตาของมนุษย์ส่งแสงออกไปดังเช่นที่ยูคลิดและปโตเลมีเคยสอนไว้ เขาใช้การทดลองโดยใช้ห้องมืดในการพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว ต่อมางานวิจัยของอิบนุ ไฮษัมได้ถูกอ้างอิงซ้ำ และศึกษาเพิ่มเติมโดยนักวิทยาศาสตร์เปอร์เซียชื่อ กมาลุดดีน อัล-ฟาริซี (Kamal al-Din Abu'l-Hasan Muhammad Al-Farisi ค.ศ.1267-1319) ซึ่งได้สังเกตลำแสงภายในลูกแก้ว เพื่อศึกษาการสะท้อนของแสงแดดในละอองฝน ผลการศึกษานี้ทำให้เขาสามารถอธิบายการเกิดรุ้งกินน้ำเป็นคนแรกของโลก

“จากปีค.ศ.800-1300 โลกอิสลามได้ผลิตจักษุแพทย์ระดับพระกาฬไม่น้อยกว่า 60 คน รวมทั้งผู้แต่งตำราด้านจักษุวิทยาโดยเฉพาะ ในขณะที่เราไม่เคยได้ยินชื่อของจักษุแพทย์ชาวยุโรปก่อนหน้าศตวรรษที่ 12 เลย” ศาสตราจารย์เฮียชแบร์กได้ตั้งข้อสังเกตนี้ในการบรรยายที่สมาคมแพทย์อเมริกัน

 แพทย์มุสลิมผลิตตำราจักษุวิทยามากมายที่มาจากการศึกษาวิจัยด้วยตัวเอง ตำราของพวกเขาทำให้เราได้เห็นภาพที่เก่าแก่ที่สุดของกายวิภาคของดวงตา แต่การศึกษาของพวกเขาก็มีข้อจำกัดเพราะแพทย์มุสลิมจะศึกษาจากดวงตาของสัตว์เท่านั้น การศึกษาจากร่างกายมนุษย์ถือเป็นการไม่ให้เกียรติ

ตำราของชาวอาหรับมีทั้งการบัญญัติศัพท์ด้านจักษุ ทั้ง ลูกตา, เยื่อตาขาว, กระจกตา แก้วตา, และภาพที่จอตา แพทย์มุสลิมยังได้ผ่าตัดโรคต่างๆ ที่เกิดกับหนังตา อาทิ โรคริดสีดวงตา (trachoma)เป็นโรคตาอักเสบเรื้อรังที่เยื่อบุตาขาวและกระจกตา (ตาดำ), โรคต้อหิน (Glaucoma โรคตาที่มีความกดดันในลูกตามากกว่าปกติจนทำให้ตาบอดในที่สุด) ซึ่งเรียกกันว่า “อาการปวดศีรษะของนักเรียน” ก็ถูกบรรยายครั้งแรกโดยแพทย์อาหรับ แต่บทบาทที่สำคัญที่สุดของแพทย์อาหรับด้านจักษุวิทยาจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก ‘การผ่าตัดต้อกระจก’

ในวารสารของสมาคมแพทย์อเมริกัน (ปี 1935) ได้ระบุไว้ว่า ในหอสมุดวาติกัน มีตำราต้นฉบับของ อิบนุ อัล-นาฟิส (Ibn al-Nafis ค.ศ.1213-88) ชื่อว่า “Kitab-ul Muhazzab fi Tibb-il ‘Ayn” (หรือ ‘ตำราจักษุแพทย์’ A Book of Corrections in the Medicine of the Eye) ที่ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับดวงตาของสัตว์และลักษณะทั่วไปและสีของดวงตามนุษย์

เจอราดแห่งครีโมนาในโทเลโด (สเปน) ใช้เวลาช่วง 40 ปีของชีวิต (ปี 1147-87) แปลหนังสือของนักวิชาการมุสลิมเป็นภาษาละติน ตำราต่างๆ มีทั้งของอัล-ราซีและอิบนุ ซินา ซึ่งเรื่องนี้ได้ปรากฎอยู่บนแสตมป์ประเทศสเปนที่ออกมาเป็นที่ระลึก แพทย์อาหรับเป็นแนวหน้าในการศึกษาวิจัยเพื่อเยียวยาปกป้องดวงตาของมนุษย์ตั้งแต่เมื่อ 1,000 ปีก่อน อัล-ราซีเป็นแพทย์คนแรกที่อธิบายปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งกระตุ้นของนักเรียน ในยุคเดียวกัน อัมมาร์ บินอาลี อัล-โมซุลี ก็ได้คิดค้นวิธีการดูดต้อกระจกออกจากดวงตาโดยใช้เข็มกลวง” (Optometry Today, publication of the Association of Optometrists, England, March 28,1987)

ศ.ยูเลียส เฮียชแบร์ก ได้สรุปในการบรรยายที่สมาคมแพทย์อเมริกันว่า:

“ในช่วงที่เรียกว่ายุคมืดของยุโรป พวกเขา (ชาวอาหรับมุสลิม) ได้จุดไฟให้แสงสว่างและหล่อเลี้ยงตะเกียงของศาสตร์ของเรา (จักษุวิทยา) จากเมืองGuadalquivir (ในสเปน) ไปยังแม่น้ำไนล์ (ในอียิปต์) ไปจนถึงแม่น้ำโอซุส (ในรัสเซีย) พวกเขาคืออัจฉริยะหนึ่งเดียวของจักษุวิทยาในช่วงยุคมืดของยุโรป” ศ.ยูเลียส เฮียชแบร์ก



หมายเหตุ: ต้อกระจกคืออาการขุ่นที่แก้วตา ทำให้ตาพร่า ท้ายที่สุดจะทำให้มองไม่เห็น มักเป็นในวัยผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป การรักษาต้อกระจกที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันวงการแพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดเอาเลนส์เก่าที่เสื่อมออก แล้วเอาเลนส์เทียมใส่เข้าไป ที่ญาติผู้ใหญ่มักบอกว่า ‘ไปลอกตา’ นั่นแหละ ลอกทีละข้าง ใช้เวลาห่างกันข้างละเป็นปี

การดูดต้อกระจกโดยใช้เข็มกลวงเป็นวิธีการที่โบราณสุดๆ แต่ก็ใช้กันมานานมากกกก ช่วงไม่เกินร้อยปีที่ผ่านมาในพื้นที่ทุรกันดารก็ยังใช้กันอยู่ หลังจากยุคทองของโลกมุสลิมแล้ว ทางยุโรปเองเพิ่งจะมีการผ่าตัดต้อกระจกในปี 1748 โดย Jacques Daviel แพทย์ชาวฝรั่งเศส (ตั้ง 750 ปีหลังยุคของอัมมาร์ อิบนุ อาลี อัล-โมซุลี) ส่วนวิธีการรักษาที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันโดยผ่าตัดเอาเลนส์เก่าที่เสื่อมออก เอาเลนส์เทียมใส่เข้าไปเพิ่งทำสำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1949 โดยเซอร์ฮาโรลด์ ริดลีย์ (Sir Harold Ridley) แพทย์ชาวอังกฤษที่โรงพยาบาลเซนต์โทมัส กรุงลอนดอน

    
ที่มา: Eye Specialists in Islam. Foundation for Science Technology and Civilization (FSTC Limited). Thu 20 December 2001.
http://www.muslimheritage.com/topics/default.cfm?ArticleID=222


PHOS CALANDAR



ข่าวรายวัน